สาระความรู้

โลจิสติกส์ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการและการวางแผนการไหล หรือการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ รวมถึงข้อมูลสารสนเทศและการเงิน จากจุดกำเนิดต้นทาง หรือผู้จัดส่งวัตถุดิบ ไปยังปลายทางที่มีการอุปโภค บริโภคเกิดขึ้น คือลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งกิจกรรมทางโลจิสจิกส์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กระบวนการหลักๆ คือ
1.กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา (Procurement)
2.กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย (Movement)
3.กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ (Storage)
4.กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกระจาย (Distribute)
Inbound และ Outbound แตกต่างกันอย่างไรในธุรกิจโลจิสติกส์
หากพิจารณาจากกิจกรรมทางโลจิสติกส์ทั้ง 4 ประเภทแล้ว กิจกรรมทางโลจิสติกส์ทั้ง 4 ประเภทนั้นจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 หมวดหมู่หลักๆ คือ โลจิสติกส์ขาเข้า หรือ Inbound Logistics และ โลจิสติกส์ขาออกหรือ Outbound Logistics
Inbound Logistics
หรือโลจิสติกส์ขาเข้า ที่นับเป็นขั้นแรกของห่วงโซ่โลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการกิจกรรมทางโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา จัดซื้อ และกำหนดระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบ เพื่อส่งมอบวัตถุดิบไปยังกระบวนการผลิตต่างๆ ในโรงงาน และรวมไปถึงการควบคุมสต็อคสินค้าในคลังสินค้าอีกด้วย
Outbound Logistics
หรือโลจิสติกส์ขาออก เน้นไปที่กิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิตของโรงงาน ไปยังปลายทางนั่นก็คือลูกค้า ซึ่งจะนับรวมตั้งแต่การเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังคลังสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า ไปจนถึงการส่งสินค้าไปยังผู้จำหน่าย จนกระทั่งถึงมือลูกค้านั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง Inbound และ Outbound Logistics คือ
1.Inbound จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การจัดหา นำเข้าวัตถุดิบ และจัดเก็บ แต่ในขณะที่ Outbound จะเน้นไปที่กิจกรรมกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค
2.Inbound จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัตถุดิบภายในโรงงานผู้ผลิต แต่ในขณะเดียวกัน Outbound จะให้ความสำคัญกับสินค้าสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์ส่งไปยังลูกค้า
3.ความสัมพันธ์ของ Inbound จะเป็นความสัมพันธ์กับผู้จำหน่ายวัตถุดิบ โรงงาน และคลังสินค้า แต่ความสัมพันธ์ของ Outbound จะเป็นความสัมพันธ์กับคลังสินค้า และผู้จัดจำหน่ายหรือลูกค้าเป็นหลัก
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Inbound หรือ Outbound Logistics ต่างก็มีคลังสินค้าเป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรม ทำให้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ดี ควรจะมีการวางแผนบริหารคลังสินค้าที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน

